เจ้าคุณเทียบ ซัดหนักคณะสงฆ์มีภัยถูกปฏิบัติสองมาตรฐาน








ซัดหนักคณะสงฆ์มีภัยถูกปฏิบัติสองมาตรฐาน


"เจ้าคุณเทียบ"ซัดหนักในวงเสวนา"มองภัยพระพุทธศาสนา ผ่านสถานการณ์ความขัดแย้งในปัจจุบัน"พุทธอิสระแตะต้องไม่ได้ คนทั่วไปแตะคณะสงฆ์ได้ทุกอย่าง ร้องปลด"เจ้าคุณประสาน"เตือนสติให้รู้เฉลียวฉลาด ด้านผู้ตรวจ พศ.ชี้รัฐปฏิบัติสองมาตรฐานหรือไม่"


วันนี้( 9 มี.ค.) ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราช วิทยาลัย(มจร.) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา มีการจัดอภิปรายเสวนาทางวิชาการ เรื่อง "มองภัยพระพุทธศาสนา ผ่านสถานการณ์ความขัดแย้งในปัจจุบัน" โดยพระสุธีธรรมนุวัตร หรือ เจ้าคุณเทียบ คณบดีคณะพุทธศาสตร์ มจร. กล่าวว่า ภัยของพระพุทธศาสนา ในอดีตมีกระบวนการนารีพิฆาต ปัจจุบันมีวาทะกรรมมากมายที่สร้างความขัดแย้งในสังคมและมีการแสดงความเห็นโดยไม่ไตร่ตรอง เวลาโพสต์อะไรต้องระมัดระวังให้มีสติ ซึ่งตอนนี้เราเลือกข้างกันชัดเจน เราไม่สามารถแตะต้องพุทธอิสระได้ แต่คนทั่วไปแตะต้องคณะสงฆ์เราทุกรูปแบบ ศาสนาอื่นเขาเล่นหลายหน้า แต่เราเล่นหน้าเดียว ดังนั้น เราต้องมีฝ่ายบู๊ ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายสนับสนุน ในขณะเดียวกันจะมีการร้องการให้ปลด พระเมธีธรรมมาจารย์ หรือเจ้าคุณประสาน จากรองอธิการบดี ซึ่งจริงๆแล้ว ไม่อยากให้มีการซ้ำเติมกัน เรามีพ่อคนเดียวกัน แต่เรามาด่ากันเอง ดังนั้น เราต้องฝึกเฉลียวฉลาด คำว่า เฉลียว คือ สติ คำว่า ฉลาด คือ ปัญญา ทุกคนนี้ฉลาดเยอะ แต่ไม่เฉลียว เราจะแสดงอะไร บางครั้งอาจจะเพิ่มปัญหา สักวันหนึ่งเราก็จากองค์กรไป แต่องค์กรของเรายังอยู่ต่อไป ขอให้พวกเราเฉลียวฉลาดให้สตินำปัญญา นางณัฐนันท์ สุดประเสริฐ นักกฏหมาย นักวิชาการ ด้านพระพุทธศาสนา กล่าวว่า เรามีภัยภายในและภัยภายนอกมีการบิดเบือนคำสอนของพระพุทธศาสนาทำให้ศาสนิกเกิดการทะเลาะวิวาท ด้วยการทำลายความสามัคคี ทำให้เกิดความแตกแยกทางความคิดเรามีหนอนในไส้มากมาย ด้วยการใช้วาจาให้เกิดความแตกแยก ดังนั้น ภัยพระพุทธศาสนา จึงไม่ใช่เรื่องภิกษุประพฤติผิดวินัย เพราะภิกษุประพฤติผิดวินัยมีมาแต่สมัยพุทธกาล หากการที่ภิกษุประพฤติผิดพระวินัย เป็นภัยต่อพระพุทธศาสนาคงไม่ดำรงคง อยู่มาถึงสองพันกว่าปี แต่ภัยพระพุทธศาสนา คือ การทำธรรมวินัยให้วิปริต อธิบายพระธรรมวินัยผิดเพี้ยน สร้างโสดาบันปลอม ขายนิพพาน แสวงหาลาภสักการะให้ตนเองโดยเอาพระพุทธเจ้าบังหน้า ยกตนข่มผู้อื่น ดั่งมหาโจร นั่นต่างหากคือภัยพระพุทธศาสนาที่แท้จริง ทั้งนี้วิธีการแก้ไข คือ ชาวพุทธต้องหันมาศึกษาพระธรรมวินัยจากพระไตรปิฎกให้มากขึ้น นายประสงค์ จักรคำ ผู้ตรวจราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า ประเด็นสมเด็จพระสังฆราช เขามองเราว่าการที่พระมาชุมชนประท้วงนั้นไม่มีความเหมาะสม เขาบอกว่า มติ มส.ไม่ถูกต้อง พระที่ออกไปพุทธมณฑล จะโดนเรียกไปปรับทัศนคติ มีการสร้างสถานการณ์ แต่มีพระอีกรูปหนึ่งจะไปยื่นหนังสือที่พุทธมณฑล มีทหารตั้งแถวรอตั้งแต่หน้าพุทธมณฑล แบบนี้ถือว่าสองมาตรฐานหรือไม่ ดังนั้น ภัยปัจจุบันมีทั้งภัยภายใน กับภัยภายนอก มี 5 ประการ คือ 1.สาวกพิกล คือ บริษัท 4 คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ไม่ศึกษาธุระ 2 คือ คันถะธุระ และวิปัสสนาธุระ 2.ประชาชนวิบัติ คือ ด้านเศรษฐกิจ ไม่ประกอบสัมมาชีพ ด้านสังคม ไม่เคารพและเข้าใจหลักการศาสนา ด้านการเมือง ไม่เคารพกฎหมาย 3.กษัตริย์พินาศ คือ ผู้นำในทุกระดับชั้นการปกครองไม่มีธรรมาภิบาล 4.ศาสนาพิการ คือ ไม่เคารพพระไตรปิฏก เช่น การตีความพระไตรปิฏกเพื่อลาภสักการะตนเองและหมู่คณะของตน และ5.คนในชาติขาดความสามัคคี คือ คนในชาติเกิดความขัดแย้งกัน ทำให้นำศาสนาเป็นเครื่องมือเพื่อให้เกิดความขัดแย้ง ด้านนายกรณ์ มีดี นายกสมาคมทางสายกลาง กล่าวว่า หน้าที่ปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนา เป็นหน้าที่ส่วนรวม หน้าที่วางเฉยเป็นหน้าที่ส่วนตัว ปัจจุบันนี้มีวาทะกรรมมากมายเกี่ยว กับพระพุทธศาสนา มีภาพลบเกี่ยวกับพระมากมาย เป็นจำนวนพันๆภาพ กลุ่มนี้บอกว่า การโพสต์ภาพลบของพระสงฆ์นี่หละ คือ การปกป้องพระพุทธศาสนา มีการทำงานเป็นกระบวนการชัดเจน มีวิธีการโพสต์ คนเหล่านี้มีเงินเดือน มีคนโพสต์ มีคนแชร์ มีคนมาด่า มีคนมาเสริม และแชร์ภาพใหม่เรื่อยๆ เขาทำเช่นนี้เป็นกระบวนการมานานแล้ว เรียกว่า "กระบวนการทำลายศรัทธา" พวกเราต้องรู้เท่าทัน พอถึง 6 เดือนจะลบโพสต์ และตั้งเฟชใหม่ไปเรื่อยๆ ปัจจุบันนี้พระสงฆ์เริ่มตื่นตัว การจะทำลายพระสงฆ์ก็แค่ ทำลายศรัทธา จึงมีกระบวนการทำลายศรัทธา นอกจากนี้ยังมีการใช้กฎหมาย อำนาจต่างๆ เพื่อจัดการพระพุทธศาสนา ถือมีความรุนแรงมาก ซึ่งตอนนี้ควรจัดการภัยภายนอกก่อน เพราะไฟจะไหม้ร่างกายหมดแล้ว จึงมีกระบวนการจ้างบวช ทำอะไรก็ได้ที่ทำลายศรัทธาก็จะโพสต์ลงโซเชียลมีเดียทันที“

ที่มา: http://www.dailynews.co.th/education/384740
เจ้าคุณเทียบ ซัดหนักคณะสงฆ์มีภัยถูกปฏิบัติสองมาตรฐาน เจ้าคุณเทียบ ซัดหนักคณะสงฆ์มีภัยถูกปฏิบัติสองมาตรฐาน Reviewed by Unknown on 06:04:00 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น :

ขับเคลื่อนโดย Blogger.