ธรรมกายความจำเป็นทางยุทธศาสตร์ของพระพุทธศาสนา : มองมุมยุทธศาสตร์ โดยเรือรบ เมืองมั่น


ธรรมกายความจำเป็นทางยุทธศาสตร์ของพระพุทธศาสนา

ธรรมกายความจำเป็นทางยุทธศาสตร์ของพระพุทธศาสนา

ธรรมกายความจำเป็นทางยุทธศาสตร์ของพระพุทธศาสนา : มองมุมยุทธศาสตร์ โดยเรือรบ เมืองมั่น

            ประเด็นธรรมกายถูกหรือผิดนี่เถียงกันมาไม่น้อยกว่ายี่สิบปี ต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผล ฝ่ายต่อต้านก็ดูเหมือนจะเกลียดชังขนาดหนัก ยกแต่ละประเด็นแรกๆ ขั้นปาราชิกยุบวัด ผิดศีลทุกข้อ ไม่ว่าจะเป็นสอนผิด อมเงิน ฟุ่มเฟือย ติดสินบนพระผู้ใหญ่ สนับสนุนเสื้อแดง แม้แต่เรื่องทำรถติดก็โวย ขณะที่ฝ่ายที่เชียร์ก็ยังเดินหน้าขยายมวลชนต่อไป ไม่พยายามเข้าสู่วงขัดแย้ง แต่เวลานี้ความขัดแย้งรุนแรงขึ้น เพราะฝ่ายต่อต้านขยายวงไปเล่นงานมหาเถรสมาคมด้วย ทำให้องค์กรพุทธจำนวนมากออกมาต้านฝ่ายต่อต้านให้แทน ส่วนธรรมกายจะนิ่งก็นิ่งไป บทความชิ้นนี้จะไม่บอกว่าธรรมกายถูกหรือผิดอย่างไร แต่จะชี้ให้เห็นว่า ธรรมกายยังมีความจำเป็นทางยุทธศาสตร์ต่อพุทธศาสนาอย่างมาก
            ก่อนอื่นต้องขอให้พวกที่ตั้งธงไว้ในใจแล้วว่า พุทธศาสนาแบบไทยต้องถูกต้องเป๊ะๆ ตามพระไตรปิฎกตามที่ตนเชื่อ ปรับใจให้กว้างนิดหนึ่งว่า การเอาผิดกับธรรมกายมิได้ง่ายนัก ไม่ว่าจะเป็นทางโลกหรือทางธรรม ในทางโลกเราเห็นอยู่ว่า เครือข่ายธรรมกายกว้างขวางมาก ไม่เฉพาะแต่เสื้อแดง แต่ชาวเสื้อหลากสี พ่อค้า ขุนทหาร พระสงฆ์ คนมีระดับชั้นผู้ใหญ่จำนวนมหาศาลเป็นศิษย์ธรรมกาย จุดแข็งของสำนักนี้คือ มีพระที่มีสติปัญญาจำนวนมาก ไม่ใช่แบบพวกยกปรัชญาฝรั่งคำสอนเซนมาแต่งเติมเท่ๆ แต่เป็นประเภทรู้จริงทางวิชาการ เปรียญธรรม 9 มากกว่าวัดไหน การเอาผิดตามกฎหมายนั้นลำบาก ในทางธรรมนั้น เถียงให้ชนะก็ยังยาก และเมื่อพิจารณาความเป็นไปของโลกยุคนี้ ที่การอดกลั้นทางศาสนาเป็นเรื่องต้องใส่ใจแล้ว ก็จะเกิดปัญหาตามมาเป็นชุดๆ ว่า ทำไมทนวัตรปฏิบัติและคำสอนวัดฝ่ายมหายาน หรือเห็นคนไทยลุ่มหลงลัทธิเจ้าพ่อเจ้าแม่ ฮวงจุ้ย พราหมณ์ ได้ แต่ทนธรรมกายไม่ได้ ถ้าตอบว่า เพราะธรรมกายเป็นเถรวาทและอยู่ใต้คณะสงฆ์ไทย ก็ต้องมีปัญหาต่อว่า ทำไมไม่ให้เกียรติมหาเถรสมาคม วุ่นไม่จบ ถ้าไม่เคารพมหาเถรสมาคมแล้วคณะสงฆ์ไทยจะอยู่ได้หรือ หรือจะต้องแตกกันแล้วแต่นิกายแบบเอเชียตะวันออก
            ในยุคนี้ที่ศาสนาพุทธถูกท้าทายอย่างมาก ไม่ใช่แค่คนเลวมาบวชหาประโยชน์จนคนเห็นกันทั่ว แต่จากคนธรรมดาทั่วไปที่ฉลาดมากขึ้นด้วยหลักวิทยาศาสตร์ที่เน้นความเป็นเหตุเป็นผลด้วย อีกทั้งการเผยแผ่เชิงรุกของศาสนาอื่นที่ทำให้คนจำนวนมากเปลี่ยนศาสนาหรือขยายกิจกรรมทางศาสนาของพวกเขาเหล่านั้นออกไปกว้างขวางขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนกระทบต่อการคงอยู่ของพุทธศาสนาทั้งสิ้น ในกระบวนศาสนาเปรียบเทียบ พุทธของเราถือว่ารุกน้อยและจับใจคนโพ้นทะเลได้ไม่มากเท่าที่ควร ที่พอจะโดดเด่นได้ก็คือ พุทธศาสนาแบบทิเบต ที่มีทะไลลามะเป็นหัวหอก ส่วนพุทธไทย แม้ว่าคำสอนของหลายท่านยอดเยี่ยม แต่การขยายตัวในโลกตะวันตกยัง
            จำกัด มีเพียงธรรมกายที่ตั้งมหาวิทยาลัยเปิดทะยานออกไปจับใจญาติธรรมโพ้นทะเลได้ด้วยกุศโลบายที่เข้าถึงคนธรรมดาที่ไม่เน้นต้องการนิพพานที่เป็นไปได้ยาก แต่เป็นสนองความมั่นคงทางจิตแบบมีจินตนาการ บางอย่างอาจทะแม่ง ไม่อยู่ในขนบของพุทธแบบไทย เช่นเรื่องวิชชาธรรมกาย หรือสถาปัตย์จานบิน แต่นั่นจับใจชาวต่างชาติจนเข้าสู่ร่มพุทธธรรมเป็นจำนวนมหาศาลยิ่งกว่าแนวการสอนแบบเถรวาทที่ตึงตัว เพราะไม่ได้ปฏิเสธสิ่งความต้องการลึกๆ ในใจของคนโดยอ้างแต่ตำราแบบมือถือสากปากถือศีล ถ้าธรรมกายล้มลง พลังในการเผยแพร่ยุทธศาสตร์เชิงรุกอาจสะดุด นี่ยังไม่พูดถึงความแตกแยกอย่างรุนแรงของสงฆ์และฆราวาส ที่ไม่รู้ว่าผลที่ตามมาหลังจากนั้นจะเปลี่ยนโฉมหน้าพุทธศาสนาในไทยเป็นอย่างใด
 

ที่มา: http://www.komchadluek.net/detail/20150302/202234.html
ธรรมกายความจำเป็นทางยุทธศาสตร์ของพระพุทธศาสนา : มองมุมยุทธศาสตร์ โดยเรือรบ เมืองมั่น ธรรมกายความจำเป็นทางยุทธศาสตร์ของพระพุทธศาสนา : มองมุมยุทธศาสตร์ โดยเรือรบ เมืองมั่น Reviewed by Unknown on 07:37:00 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น :

ขับเคลื่อนโดย Blogger.