ปฏิรูป (เปลือก) ศาสนา?? โดย ณัฐรดา


ศาสนาพุทธนั้น มาจากคำสองคำคือ พุทธ กับ ศาสนา ซึ่งคำแปลของคำทั้งสองคือ
ศาสนา แปลว่า
๑ การสั่งสอน, การปกครอง, ระเบียบ, ข่าวสาส์น
๒ คำสั่งสอนอันกำจัดกิเลส, คำสั่งสอนอันเบียดเบียนกิเลส
๓ ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งการอบรมสัตว์โลก เทวดา และ พรหม

ส่วน พุทธ นั้น แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น (ผู้เบิกบาน)
ดังนั้น ศาสนาพุทธ จึงหมายถึง คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า, คำสั่งสอนของผู้รู้, ธรรมเป็นเครื่องอบรมเพื่อการเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น
เหตุที่พุทธศาสนาได้ชื่อว่าเป็นศาสนาของผู้รู้ ผู้ตื่น ก็เพราะว่าเป็นคำสอนที่ทำให้ผู้ศึกษามารู้แจ้งธรรมอันประเสริฐคืออริยสัจ ๔ จนทำให้ไม่ถูกกิเลสครอบงำ จนตื่นจากความหลับคือการสยบต่อนิวรณ์ทั้ง ๕ อันประกอบด้วย กามฉันทะ (ความพอใจในกามคุณ) พยาบาท (ความคิดร้ายต่อผู้อื่น) ถีนมิทธะ (ความหดหู่ซึมเซา) อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ)  และ วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) และเพราะตื่นจากนิวรณ์จึงประพฤติสงบทั้งกาย วาจา ใจ ดำรงตนอยู่อย่างมีสติ

การมีสติที่ประกอบด้วยความรู้อันเป็นพื้นฐานอย่างนี้เอง จึงได้ชื่อว่า ผู้ตื่น
จึงสงบได้ท่ามกลางความผันผวนของสัตว์โลกและธรรมที่เนื่องด้วยโลก

มีวัดหนึ่งส่งอักษรเหล่านี้มาในกล่องข้อความของดิฉันในเฟสบุ๊ค

“...สาธุการปล่อยงูทำให้ได้แฟนที่ดี รับผิดชอบและรักเราไปตลอด นี่เป็นอานิสงค์ที่แน่นอนที่สุดเชิญไปทัวร์ทำบุญแล้วรวยที่เชียงใหม่ด้วยกันไหม จ๊ะ รวยจากการไปขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่เชียงใหม่ จ๊ะ … ร้อยละ 90 สำเร็จตามที่ขอทุกอย่าง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ที่อื่นไม่มีเหมือนหรือมี แต่ไม่ได้ ให้พรมากอย่างที่เชียงใหม่ดูในรายการผ้าป่างูที่เฟสเราได้ได้ จ๊ะ ที่สำคัญใกล้ภัยพิบัติมากแล้วนะ ไปแล้ว จะรู้ทุกอย่างในชีวิต ตนเองและแก้ไขได้ล่วงหน้า... ขอเชิญปล่อยงูและสัตว์ต่างๆถวายเป็นพระราชกุศล จะทำให้รอดชีวิตได้ในเวลาคับขันลำบากและอันตรายที่สุด ถ้าทำบุญ 500 บาทขึ้นไปพร้อมตรวจดวงให้ฟรีและบอกวิธีแก้กรรมหมดทั้งดวงจ๊ะ และเชิญบอกต่อๆไปวิธีแก้กรรมทำแท้งที่นี่ดีที่สุดในโลก จ๊ะก่อนจะเอาตัวไม่รอดในชาตินี้และจะล่มจม เสียหาย ลำบากยากจนไปตลอดชีวิตและจะไปอบายแน่นอน..”

อ่านแล้วพลุ่งพล่านใจจนอยากจะบอกว่า การปฏิรูปวงการศาสนา ไม่ใช่การเรียกร้องให้มีการบรรจุในรัฐธรรมนูญว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ, ไม่ใช่การเรียกร้องให้มีการบวชภิกษุณีได้, ไม่ใช่การส่งเสริมฆราวาสให้ศึกษาพระธรรมวินัยด้วยเพื่อที่จะได้วินิจฉัยได้ว่าใครทำผิดทำถูกตามพระวินัยเวลาเกิดกรณีพิพาท, ไม่ใช่การออกกฎระเบียบต่างๆเพื่อกันภิกษุประพฤตินอกลู่นอกทาง ฯลฯ

แต่ตามความเห็นของดิฉัน เป็นการให้ทุกฝ่ายเรียนรู้ธรรมวินัยเพื่อเข้าใจวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของพุทธศาสนา ว่าพระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนาเพื่อประโยชน์สุขแก่ชนหมู่มาก เพื่อจะสามารถเข้าถึงประโยชน์ที่ทรงหวังให้ชาวโลกได้รับ อันเป็นประโยชน์ที่สอดคล้องตามความเป็นจริงที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ
เป็นการนำธรรมที่ได้เรียนรู้มาไตร่ตรองจนเข้าใจความหมายของหลักธรรม แล้วจึงนำมาปฏิบัติในชีวิต และ เพราะการป
ฏิบัติ จึงรู้อย่างชัดแจ้งว่าผลนั้นเกิดแต่เหตุคือการกระทำ ไม่ใช่จากพิธีกรรมหรือการดลบันดาลจากใครๆ  จนวิถีชีวิตคล้อยตามธรรม เป็นอยู่ด้วยธรรม อันทำให้ตนเอง มีความทุกข์น้อยลงเรื่อยๆ สุขมากขึ้นเรื่อยๆจากความเป็นปกติของชีวิต และใช้ความปกติในทางที่ดี (กุศลศีล) นี้เป็นพื้นฐานที่จะเข้าถึงความสุขอันยิ่งๆขึ้นไป

ดังที่ตรัสว่า นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง
ซึ่งนอกจากตนจะมีสุขขึ้นเรื่อยๆแล้ว ยังเป็นปัจจัยแวดล้อมที่ดีแก่คนในสังคมอันทำให้สังคมพลอยสงบสุขตามไปด้วย
เป็นการป้องปรามวัดไม่ให้มีการเผยแพร่สิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ต่อความมั่นคงของพุทธศาสนา เผยแพร่ความเข้าใจผิดอันยิ่งทำให้พุทธศาสนิกชนไม่ได้ประโยชน์จากธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงนำมาแสดง แทบทุกวัด ไม่เว้นแต่พระอารามหลวง ต่างมีข้อความเชิญชวนให้ถวายสังฆทานเพื่อสะเดาะเคราะห์ต่อชะตา ซึ่งเป็นความเชื่อที่ขัดต่อคำสอนของพระพุทธเจ้า

กรรม แปลว่า “การกระทำ” เราไม่สามารถแก้ผลของกรรมไม่ดีด้วยการจ่ายเงินให้ใครบางคนทำพิธีอะไรสักอย่างแล้วผลของการกระทำนั้นจะสูญหายไป อย่างที่มักเรียกกันว่า “พิธีแก้กรรม” ได้ พิธีกรรมอย่างนี้ผิดอะไรจากการบูชายัญในพุทธกาลที่พระพุทธเจ้าทรงค้านนัก
กรรมเก่า กรรมใหม่ แก้กรรม ดับกรรม เป็นเรื่องที่ชาวพุทธยังเข้าใจกันผิดๆ พุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธในเรื่องของกรรมเก่า โดยพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงความหมายของ กรรมเก่า แก้กรรม ดับกรรม ไว้ในกรรมนิโรธสูตร นวปุราณวรรค ว่า

“[๑๔๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงกรรมใหม่และกรรมเก่า ความดับกรรม และปฏิปทาที่ให้ถึงความดับกรรม เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว

กรรมเก่า เป็นอย่างไร
คือ จักษุ (ตา) บัณฑิตพึงเห็นว่าเป็นกรรมเก่า ถูกปัจจัยปรุงแต่ง สำเร็จด้วยเจตนา เป็นที่ตั้งแห่งเวทนา
ฯลฯ
นี้ เรารียกว่ากรรมเก่า

กรรมใหม่ เป็นอย่างไร
คือ กรรมที่บุคคลทำด้วยกาย วาจา ใจ ในบัดนี้
นี้ เราเรียกว่ากรรมใหม่

ความดับกรรม เป็นอย่างไร
คือ นิโรธที่ถูกต้องวิมุตติ เพราะความดับกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมได้
นี้ เราเรียกว่าความดับกรรม

ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับกรรม อะไรบ้าง
คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
๑สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ)           ๒สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
๓สัมมาวาจา(เจรจาชอบ)        ๔สัมมากัมมันตะ(กระทำชอบ)
๕สัมมาอาชีวะ(เลี้ยงชีพชอบ)  ๖สัมมาวายามะ(พยายามชอบ)
๗สัมมาสติ(ระลึกชอบ)           ๘สัมมาสมาธิ(ตั้งจิตมั่นชอบ)
นี้ เราเรียกปฏิปทาที่ให้ถึงความดับกรรม”
สํ.สฬา.(แปล) ๑๘ / ๑๔๖ / ๑๗๙ - ๑๘๐

จากคำตรัสดังที่ยกมา แสดง ว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้เองเรียกว่ากรรมเก่า
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้อธิบายไว้ว่า  “กรรมเก่า” ก็คือสภาพชีวิตที่เรามีอยู่ในปัจจุบันนี้นั่นเอง ซึ่งก็คือผลจากกรรมเท่าที่เราทำมาก่อนหน้านี้ทั้งหมด และเราทั้งหลายใช้สภาพที่เป็นที่มีในปัจจุบันนี้สร้าง “กรรมใหม่” ต่อๆไป จึงจะเห็นได้ว่ากรรมไม่ได้หมายถึงเพียงเรื่องในอดีตที่จบไปแล้ว แต่หมายถึงทั้งในอดีต ปัจจุบัน และ อนาคต หากเราเข้าใจว่ากรรมหมายถึงเพียงอดีต เราก็จะไม่สามารถแก้กรรม ดับกรรมได้

ซึ่งการ “แก้กรรม ดับกรรม” หมายถึงการกระทำอย่างจริงจังตามมรรคมีองค์ ๘ และจะสำเร็จได้ก็ด้วยการเริ่มต้นยอมรับผลของกรรมเก่าเสียก่อน แล้วจึงแก้กรรม ด้วย “ปฏิกรรม” หรือ กระทำคืน ซึ่งก็คือ จากที่เคยกระทำกรรมไม่ดี อันทำให้เป็นคนไม่ดี ก็กระทำกรรมใหม่ไปในทางที่ดี เพื่อกลับคืนมาเป็นคนดี เพื่อให้เกิดการสั่งสมการกระทำดี เคยชินกับการกระทำดี อันก่อให้เกิดผลดีใหม่ๆขึ้นแทนผลของการกระทำที่ไม่ดีเก่าๆ
ผลของกรรมดีทำให้ตนได้รับความรื่นรมย์จากสิ่งที่รับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จนราวกับได้อยู่ในสวรรค์ หรือ ตายไปก็ได้บันเทิงอยู่ในสวรรค์

หรือหากจะทำให้ยิ่งไปกว่านั้น ก็คือทำกรรมที่ไม่ทำให้เกิดการสั่งสมทั้งผลของกรรมดีกรรมชั่ว แต่เป็นกรรมที่ทำแล้วกลับทำให้ สิ้นกรรม นำไปสู่ ความดับของกรรม นั่นคือทำกรรมดีต่างๆด้วยคิดแต่เพียงว่า “ได้ทำ” เท่านั้น ไม่หวังผลของการกระทำ

การกระทำนั้นจึงไม่จัดว่าเป็นกรรม เพราะไม่มีผู้รับผล แต่จัดเป็นกิริยา ที่ทำแล้วก็จบไป ทำแล้วก็เท่านั้น ดังที่เรียกกรรมอย่างหลังนี้ว่า กรรมไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม อันเป็นมุ่งหมายสูงสุดของพุทธศาสนาเพราะทำให้ไม่มีการเกิดใหม่อีกต่อไป

พระวินัยนั้นคืออายุของพระศาสนา หากมีการรักษาพระวินัย สงฆ์ก็จะดูงดงาม ทำที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ที่เลื่อมใสแล้วให้ยิ่งคงมั่น แต่กระนั้น พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงปฏิเสธ ว่าวันหนึ่ง พุทธศาสนาก็ถึงกาลแตกดับ เสื่อมสิ้น แต่ตรัสว่า หากมีการปฏิบัติที่ตรัสเรียกว่า “เป็นอยู่ชอบ” หรือก็คือการปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ ที่จะทำให้ “โลกไม่ว่างจากพระอรหันต์”

กระแสสังคมในขณะนี้เรียกร้องให้มีการปฏิรูป

แต่... เราจะปฏิรูปเปลือกนอก หรือการเข้าถึงหลักธรรมอันเป็นแก่นแท้ของพุทธศาสนากันดีล่ะคะ

ที่มา: http://www.oknation.net/blog/nadrda2/2015/03/13/entry-1
ปฏิรูป (เปลือก) ศาสนา?? โดย ณัฐรดา ปฏิรูป (เปลือก) ศาสนา?? โดย ณัฐรดา Reviewed by MFNews on 07:29:00 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น :

ขับเคลื่อนโดย Blogger.