หลวงปู่วัดปากน้ำ กับคำสอนเรื่อง ฐานที่ตั้งของจิตทั้ง7 ขัดแย้งกับ อานาปานสติ? #ธรรมะ #การปฏิบัติธรรม #สติ

สมาธิตามคำสอนของหลวงปู่วัดปากน้ำ ในฐานะเทคนิคการฝึก อานาปานสติ

ผู้เขียนเขียนบทความนี้ขึ้นเพื่อปรารถนาจะลดความแตกแยกในหมู่ชาวพุทธ เพื่อให้เห็นว่ามีสิ่งที่เป็นความรู้ร่วมกันของสายปฏิบัติอย่างน้อยก็สองสาย คือ สายปฏิบัติที่เน้นการเจริญ อานาปานสติ และ สายปฏิบัติที่ฝึกจิตอยู่กับฐานที่ตั้งของจิตทั้งเจ็ดตามที่หลวงปู่สด วัดปากน้ำ ท่านสอนไว้
รูปที่1: หลวงปู่สดกำลังอธิบายฐานที่ตั้งของจิตทั้ง 7ฐาน ที่ใช้สำหรับฝึกสมาธิ
ที่มา: kalyanamitra.org
พระพุทธเจ้าทรงกล่าวถึงอานิสงส์แห่งการเจริญอานาปานสติไว้ ดังนี้
“อานาปานสติอันบุคคลเจริญ กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่”

“ผล ๒ ประการ เป็นสิ่งที่หวังได้; คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือว่าถ้ายังมีอุปาทิเหลืออยู่ ก็จักเป็น อนาคามี.”

มหาวาร. สํ. ๑๙/๓๙๖-๓๙๗/๑๓๑๑-๑๓๑๓

จากพระพุทธจวนดังกล่าวจะเห็นว่า การเจริญอานาปานสตินั้นมีผลมากถึงขนาดสามารถทำให้บรรลุธรรมขั้นสูงได้ในปัจจุบัน

ผู้เขียนศึกษาและฝึกเจริญอานาปานสติด้วยเทคนิคต่างๆที่หลากหลาย แต่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าเทคนิคการฝึกสมาธิแบบที่พระมงคลเทพมุณี (หลวงปู่สด วัดปากน้ำ) สอนไว้ จะมีความเกี่ยวข้องกับอานาปานสติ จนกระทั่งได้ฟังคำอธิบายจากท่านผู้รู้ท่านหนึ่ง จึงเริ่มเห็นความเชื่อมโยงของอานาปานสติและเทคนิคการฝึกสมาธิโดยอาศัยฐานที่ตั้งของจิตทั้งเจ็ด ตามที่หลวงปู่สดท่านได้สอนไว้

“ให้ตามดูลมหายใจที่วิ่งผ่านฐานทั้งเจ็ด”

การจะเห็นความเชื่อมโยงนี้ ขอให้ท่านผู้อ่านสังเกตฐานที่ตั้งทั้งเจ็ด (ดูรูปที่2) ก่อน หากสังเกตโดยเทียบกับเส้นทางเดินของลมหายใจ จะเห็นว่าฐานทั้งเจ็ด นั้นล้วนเกี่ยวข้องกับเส้นทางเดินของลมหายใจแทบทั้งสิ้น

รูปที่2: ฐานที่ตั้งจิตในการทำสมาธิทั้ง 7 ฐาน
ที่มา: kalyanamitra.org

เดิมผู้เขียนเห็นรูปฐานที่ตั้งของจิตทั้งเจ็ด และลองปฏิบัติด้วยการบังคับจิตให้ไปอยู่ในฐานต่างๆตามภาพ พบแต่ความยากลำบากในการเคลื่อนจิตไปยังฐานต่างๆดังกล่าว จนกระทั่งได้ฟังการแนะนำการปฏิบัติจากท่านผู้รู้ท่านหนึ่งซึ่งสอนให้ตามดูลมหายใจที่วิ่งผ่านฐานทั้งเจ็ด โดยเริ่มจาก รู้สึกถึงลมหายใจที่กระทบปลายจมูก ผู้เขียนพบว่าการรู้สึกถึงลมหายใจที่กระทบจมูกนั้นทำได้ไม่ยาก นอกจากปลายจมูกแล้ว ก็ยังมีฐานที่สี่ที่ท่านผู้รู้อธิบายว่าเป็นจุดเดียวกับลิ้นไก่ หากลองทำความรู้สึกถึงลมหายใจที่เข้าไปสัมผัสกับลิ้นไก่ ก็จะทำให้รับรู้ถึงฐานที่สี่ได้ไม่ยากเกินไป ฐานที่ห้าเองก็เป็นในลักษณะเดียวกันกล่าวคือ เราสามารถทำความรู้สึกถึงลมหายใจที่กระทบกับเส้นเสียงในกล่องเสียงบริเวณลูกกระเดือกได้ไม่ยากนัก การอธิบายถึงฐานที่หกโดยบอกว่า เป็นจุดที่สุดของลมหายใจที่ยาวที่สุดสามารถหาฐานทีหกได้ด้วยการตามรู้สึกถึงลมหายใจลงไปจนถึงจุดต่ำที่สุดที่จะรู้สึกถึงได้ จากฐานที่หกเมื่อเราผ่อนลมหายใจลงมาเล็กน้อยไม่ต้องหายใจให้ยาวที่สุด ก็จะรู้สึกสบายผ่อนคลายได้มากกว่า หายใจเข้าในปริมาณที่พอดีๆไม่ยาวจนเกินไป ที่สุดของลมหายใจที่มีขนาดพอดีๆไม่ยาวเกินไปนี้ก็คือฐานที่เจ็ดซึ่งเป็นฐานที่รู้สึกสบายที่สุด จนบางครั้งอาจรู้สึกเหมือนไม่ได้หายใจในขณะที่จิตใจรับรู้อยู่กับฐานที่เจ็ดดังกล่าว

หากท่านผู้อ่านอาจสามารถนำความเชื่อมโยงนี้ไปใช้เสริมการปฏิบัติให้เกิดผลดียิ่งขึ้นได้ ผู้เขียนขอถวายบุญกุศลนั้นแด่ครูบาอาจารย์ของทั้งสองสายการปฏิบัติ และขอกราบบูชาบรมครูพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยความเคารพยิ่ง ขอให้ท่านที่ปฏิบัติได้ผลดีช่วยแนะนำความรู้เหล่านี้แก่ผู้ที่เหมาะสมต่อไป

เจริญสติ เจริญธรรม
จิระธรรม
หลวงปู่วัดปากน้ำ กับคำสอนเรื่อง ฐานที่ตั้งของจิตทั้ง7 ขัดแย้งกับ อานาปานสติ? #ธรรมะ #การปฏิบัติธรรม #สติ  หลวงปู่วัดปากน้ำ กับคำสอนเรื่อง ฐานที่ตั้งของจิตทั้ง7 ขัดแย้งกับ อานาปานสติ? #ธรรมะ #การปฏิบัติธรรม #สติ Reviewed by MFNews on 08:31:00 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น :

ขับเคลื่อนโดย Blogger.