ระบบการศึกษา ฝันร้ายของเด็กนักเรียนไทย

ภาพ: pixabay

“นายขี้สงสัย”

ผมไปทำฟันเมื่อหลายวันก่อน หมอฟันเล่าให้ฟังว่าเป็นห่วงลูกชายที่เรียนชั้นประถมในโรงเรียนแห่งหนึ่ง เพราะระบบการศึกษาในปัจจุบันแตกต่างจากเดิมมาก เธอเป็นห่วงว่าอนาคตของเด็กไทยจะเป็นอย่างไร อยากให้มีใครสักคนช่วยตะโกนดังๆ เผื่อลุงตู่จะได้ยิน

ฟังแล้วผมก็เริ่มสงสัยว่าปัญหาที่หมอฟันของผมเป็นทุกข์นั้นเกิดจากอะไร เมื่อสงสัยผมจึงต้องค้นเพื่อให้ได้คำตอบครับ และแล้วผมก็เจอข้อมูลบางอย่าง เดี๋ยวเราเอามาดูกัน

ข้อมูลจากระบบการศึกษาไทย คือความล้มเหลวแห่งอาเซียน
เรียบเรียงโดย KERO uAsean.com
เนื้อหาอ้างอิงจาก report.cnn.com, New Culture
http://education.uasean.com/kerobow01/479

ระบบการศึกษาไทย คือหนึ่งในระบบการศึกษาที่ล้มเหลวที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตกต่ำลงทุกปี
ผู้เขียนสอนอยู่ในระบบการศึกษาไทยมากว่า 3 ปี และได้รับรู้ว่าแท้ที่จริงแล้วระบบการศึกษาในไทยนั้นย่ำแย่แค่ไหน เงินงบประมาณที่ถมลงไปไม่เคยพอ, ห้องเรียนขนาดใหญ่ (นักเรียนมากกว่า 50 คนต่อห้อง) ผลิตและพัฒนาครูที่ย่ำแย่, นักเรียนขาดแรงผลักดัน และระบบที่บังคับให้นักเรียนผ่านชั้นได้แม้ว่าพวกเขาจะสอบตก จนคล้ายว่าเราจะมองไม่เห็นความหวังต่อการเปลี่ยนแปลงในระยะอันใกล้นี้

นี่ไง!! แค่เริ่มอ่านก็ชักสนุกแล้ว

ผู้เขียนสอนในโรงเรียนเอกชนพหุภาษา (Bilingual) ดังนั้นระดับความเข้มข้นของปัญหาจะน้อยกว่าโรงเรียนรัฐ แต่ถึงอย่างนั้น โรงเรียนของเราก็ต้องตกอยู่ภายใต้ระบบราชการอันเทอะทะ (ยุ่งเหยิง) ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานไร้ประสิทธิภาพจนน่าหัวเราะแห่งหนึ่งของโลก กฏระเบียบเปลี่ยนแปลงทุกภาคการศึกษา หลักสูตรการสอน, เนื้อหาแบบเรียน, ข้อสอบ ฯลฯ แนวทางปฏิบัติใหม่ๆ ถูกสั่งการมายังครูอาจารย์ทุกๆ เปิดเทอมใหม่ แล้วก็เปลี่ยนใหม่อีกทีในภาคการศึกษาหน้า

อาจารย์ได้รับคำสั่งให้ปล่อยนักเรียนผ่านชั้นไปได้แม้ว่าพวกเขาจะสอบตกและให้ปิดตาข้างหนึ่ง ให้กับปัญหาที่เราควรจะซีเรียสอย่างการลอกการบ้านส่ง

สังคมไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติทางศึกษา นักเรียนไทยไม่เคยต้องคิดอะไรเอง ไม่ได้รับการฝึกฝนทักษะ Critical Thinking (การคิดเชิงวิพากษ์เป็นเหตุเป็นผล) ในโรงเรียนรัฐ การมีนักเรียน 50 คนต่อห้องเป็นเรื่องปกติ เด็กครึ่งหนึ่งหลับในชั้นเรียน ในขณะที่อาจารย์ไม่เคยสนใจว่าพวกเขาจะฟังหรือไม่ จำนวนหนังสือมีจำกัด อุปกรณ์การทดลองวิทยาศาสตร์ไม่เคยปรากฏให้เห็นในบางโรงเรียน อาจารย์ต่างชาติเป็นเหมือนส่วนเกินที่มีแค่ให้รู้ว่ามี
สถานการณ์การศึกษาในเวียดนาม มาเลเซีย เกาหลีหรือจีน กำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ขณะที่ไทยถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง แต่รัฐยังเสียเวลาไปกับการออกกฏที่น่าขัน แทนที่จะแก้ไขสิ่งที่เป็นปัญหาจริงๆ เรื่องราวเหล่านี้เป็นความจริงใช่หรือไม่

ถ้าใช่..กระทรวงศึกษาธิการคงแก้ปัญหาไม่ถูกจุด เกาไม่ถูกที่คัน ทำงานไม่เป็นหรือทำงานแบบแก้ผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ รอเกษียณอายุราชการเท่านั้นหรือ

ผมไม่มีหน้าที่ตอบคำถาม แต่การที่คุณ KERO เขียนถึงการศึกษาของไทยก็เพื่อต้องการบอกให้พวกเรามองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น ข้อเขียนของเธอยังกล่าวพาดพิงถึงการศึกษาของเวียดนาม มาเลเซีย เกาหลี และจีนที่เป็นไปแบบก้าวกระโดด ทำให้ผมนึกถึงข่าวเรื่องผลการสอบการจัดอันดับทดสอบโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (PISA) ซึ่งมีสิงคโปร์อยู่ในอันดับแรก ตามด้วยเกาหลีใต้, เวียดนาม ฮ่องกงและญี่ปุ่น โดยไม่มีไทยติดในรายชื่อใดๆ ทำให้ผมอดคิดไม่ได้ว่าความทุกข์ของพ่อแม่คนไทยน่าจะมีเหตุผล (http://www.bbc.com/news/business-38145491)

เอ๊ะ!!! หรือว่าเป็นเพราะงบประมาณทางด้านการศึกษาของเรามีน้อยกว่า

เมื่อสงสัยผมจึงค้นต่อไป จนพบพาดหัวข่าว
เปิดงบปี 2560 พบกระทรวงศึกษาใช้เยอะสุด-กลาโหมแตะ 2 แสนล้าน
M Thai News: http://news.mthai.com/politics-news/502995.html
วันนี้ (24 มิ.ย. 59)  ได้มีการเปิดเผยถึงรายละเอียดของงบประมาณ ที่นำไปใช้พัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ด้วยการวางยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณไว้ 6 ด้าน คือ
1.ความมั่นคงและการต่างประเทศ 157,155.5 ล้านบาท
2.การสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 323,656.4 ล้านบาท
3.การพัฒนาคนและส่งเสริมศักยภาพคน 231,894.4 ล้านบาท
4.การแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างการเติบโตจากภายใน 241,149.1 ล้านบาท
5.การจัดการน้ำ และสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 110,156.6 ล้านบาท
6.การปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ 330,410.6 ล้านบาท
โดยกระทรวงที่เสนอใช้งบประมาณสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่
  • กระทรวงศึกษาธิการ 519,292.5 ล้านบาท
  • กระทรวงมหาดไทย 324,012 ล้านบาท
  • กระทรวงการคลัง 218,633.1 ล้านบาท
  • กระทรวงกลาโหม 214,347.4 ล้านบาท
  • กระทรวงคมนาคม 152,726.4 ล้านบาท

งบประมาณกระทรวงศึกษาธิการ 519,292.5 ล้านบาท จึงเป็นคำถามที่รัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการต้องตอบประชาชนชาวไทยให้ได้ว่า ประเทศไทยจะพัฒนาการศึกษาด้วยวิธีใดเพื่อให้คุ้มค่าภาษีอากรที่ถูกนำมาใช้ตั้งงบประมาณ และเงินงบประมาณทั้งหมดถูกนำไปใช้ในเรื่องใดบ้าง กรุณาใช้เงินของพวกเราให้คุ้มค่าหน่อยนะ ผมขอร้อง

ท้ายที่สุดผมอยากฝากคำพูดของกูรูทางด้านการศึกษาของ OECD, Andreas Schleicher ที่มักกล่าวจนติดปากว่า
"No education system can be better than the quality of its teachers"
"ไม่มีระบบการศึกษาใดจะดีไปกว่าคุณภาพของครูผู้สอน"
(http://www.bbc.com/news/business-38145491)

ถ้ารัฐบาลผู้ดูแลงบประมาณ และผู้ดูแลกระทรวงศึกษาธิการทำงานไม่เป็น แก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่ได้ก็ลาออกเถอะ อยู่ไปก็อายเด็ก! ที่มา: DNA News
ระบบการศึกษา ฝันร้ายของเด็กนักเรียนไทย ระบบการศึกษา ฝันร้ายของเด็กนักเรียนไทย Reviewed by MFNews on 06:17:00 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น :

ขับเคลื่อนโดย Blogger.