ได้เวลายุบ "ดีเอสไอ" รวมเป็นหน่วยงานในองค์กรอัยการ?

"...จากการรับฟังความเห็นของประชาชนโดยทั่วไป มีประชาชนจำนวนมากต้องการให้ยุบหน่วยงานดังกล่าว เนื่องจากมีความซ้ำซ้อนกับหน่วยงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในอดีตที่ผ่านมาได้สร้างความแตกแยกในสังคม เนื่องจากนักการเมืองซึ่งมีอำนาจในรัฐบาลแต่ละคณะ ใช้อำนาจรัฐ โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง กลั่นแกล้ง กล่าวหา ทำลาย พรรคการเมือง หรือผู้มีความเห็นทางการเมืองฝ่ายตรงข้าม มิได้มีการดำเนินการเพื่อยังประโยชน์ให้แก่กระบวนการยุติธรรมของประเทศได้อย่างแท้จริง..." 
pivddsffeeee
เป็นอีกหนึ่งเรื่องใหญ่ ที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชน!
สำหรับแนวคิดการโอนย้ายกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จากกรมในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ไปเป็นสำนักการสอบสวนคดีพิเศษ อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของอัยการสูงสุด เพื่อปรับปรุงงานสืบสวนทั้งระบบของประเทศ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในขณะนี้ 
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.orgได้รับการยืนยันข้อมูลจาก คณะกรรมาธิการ ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ของ สปช.ที่ทำหน้าที่ในการพิจารณาศึกษาเรื่องนี้ว่า มีการจัดทำรายงานผลสรุปออกมาอย่างเป็นทางการแล้ว
โดยมีเนื้อหาสำคัญดังนี้  
1. หลักการและเหตุผล
ด้วยการรับฟังความคิดเห็นประชาชนของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และความเห็นของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้มีการเรียกร้องให้พนักงานอัยการเข้ามีส่วนร่วมในการสอบสวน ให้มีการตรวจสอบคานอำนาจพนักงานสอบสวน อีกทั้งภารกิจของอัยการสูงสุด ต้องเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในความผิดอาญานอกราชอาณาจักร ความผิดอาชญากรรมข้ามชาติ แม้องค์กรอัยการในขณะนี้ได้จัดตั้งสำนักงานอัยการการสอบสวน มีอัตรากำลังประมาณ 28 คน แต่การดำเนินการเข้าทำการสืบสวน สอบสวน ก็สามารถทำได้ในวงจำกัด ทั้งการสืบสวน สอบสวน จำเป็นต้องใช้ทักษะความรู้ ความชำนาญในการแสวงหาพยานหลักฐาน การมีความรู้ในวิชาการกฎหมายเพียงอย่างเดียว ไม่อาจทำให้การสืบสวน สอบสวน ลุล่วงภารกิจได้ การเข้าทำการสืบสวนสอบสวน ของพนักงานอัยการ ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นมาโดยตลอด การพิจารณาสั่งคดีของพนักงานอัยการถูกชี้นำโดยพนักงานสอบสวน ทำให้กระบวนการยุติธรรมในชั้นพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ ไม่อาจอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนได้อย่างสมบูรณ์
กรมสอบสวนคดีพิเศษ 
จากการรับฟังความเห็นของประชาชนโดยทั่วไป มีประชาชนจำนวนมากต้องการให้ยุบหน่วยงานดังกล่าว เนื่องจากมีความซ้ำซ้อนกับหน่วยงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในอดีตที่ผ่านมาได้สร้างความแตกแยกในสังคม เนื่องจากนักการเมืองซึ่งมีอำนาจในรัฐบาลแต่ละคณะ ใช้อำนาจรัฐ โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง กลั่นแกล้ง กล่าวหา ทำลาย พรรคการเมือง หรือผู้มีความเห็นทางการเมืองฝ่ายตรงข้าม มิได้มีการดำเนินการเพื่อยังประโยชน์ให้แก่กระบวนการยุติธรรมของประเทศได้อย่างแท้จริง ตามความมุ่งหมายของ พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.๒๕๔๗ แต่หากยุบหน่วยงานดังกล่าว ย่อมเป็นที่น่าเสียดาย เนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ มีบุคลากรที่มีทักษะในการสืบสวนสอบสวน มีเครื่องมืออุปกรณ์ มีงบประมาณ เครือข่าย ฯลฯ ค่อนข้างสมบูรณ์ สามารถทำการสืบสวน สอบสวน คดีอาญาสำคัญได้
สำนักงานอัยการสูงสุด
มีภาระหน้าที่สำคัญคือ อำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน ในชั้นสอบสวน และมีคำสั่งในคดีอาญา มีภาระหน้าที่ที่สำคัญโดยเฉพาะอัยการสูงสุด ต้องทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนคดีอาญานอกราชอาณาจักร อาชญากรรมข้ามชาติ แต่องค์กรอัยการยัง ขาดบุคลากรที่มีทักษะในการสืบสวนสอบสวน ขาดวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือ งบประมาณที่มีจำกัด การสืบสวน สอบสวนคดีอาญาที่สำคัญ คดีอาญานอกราชอาณาจักร คดีอาชญากรรมข้ามชาติ รวมทั้งคดีความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของอัยการสูงสุด ของพนักงานอัยการ ต้องอาศัยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานอื่น ดำเนินการสอบสวนแทน
องค์กรในกระบวนการยุติธรรม ไม่ควรอยู่ภายใต้อำนาจของนักการเมือง พรรคการเมือง หรือ ผู้ใช้อำนาจของรัฐทางการเมือง คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติส่วนใหญ่ และประชาชนส่วนมาก มีความเห็นให้องค์กรอัยการ เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ
โดยเหตุผลนัยยะเดียวกัน จึงไม่สมควรให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ยังคงอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หากมีการเข้าสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีโดยนักการเมือง ดังนั้นหากสามารถควบรวมกรมสอบสวนคดีพิเศษ เข้ามารวมอยู่ในองค์กรอัยการได้ ย่อมเป็นการเติมเต็มซึ่งกันและกัน กล่าวคือ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้มีการเพิ่มบุคลาการในด้านการสืบสวนสอบสวนเป็นของตนเอง มีเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ในการสืบสวนสอบสวน มีงบประมาณ ฯลฯ สามารถทำการสืบสวน สอบสวนคดีอาญาได้ด้วยตนเอง โดยที่รัฐไม่ต้องจัดหางบประมาณใหม่ ในขณะเดียวกัน กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้หลุดพ้นจากการเป็นเครื่องมือในทางการเมือง สามารถทำการสืบสวนสอบสวนได้อย่างอิสระ ไม่ตกเป็นเครื่องมือของนักการเมือง สามารถอำนวยความยุติธรรมได้อย่างแท้จริงแก่ประชาชนโดยส่วนรวม
ประชาชนทั่วไปได้ประโยชน์คือ มีหลักประกันได้ว่า พนักงานอัยการสามารถเข้าตรวจสอบการทำงานของพนักงานสอบสวน เป็นหน่วยงานที่คานอำนาจรัฐในการสืบสวน สอบสวน ขององค์กรตำรวจ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สังคมตั้งข้อสงสัยในการมีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ ใช้อำนาจกลั่นแกล้ง กล่าวหา คุกคาม เป็นภัยต่อประชาชนผู้สุจริต โดยพนักงานอัยการสามารถตรวจสอบ ทัดทานอำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สามารถเข้าช่วยเหลือประชาชนที่ถูกกลั่นแกล้งโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยมิชอบเนื่องจากสามารถเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ ในส่วนของการอำนวยความยุติธรรมในภาพรวม สำนักงานอัยการสูงสุด สามารถสอบสวนคดีอาญานอกราชอาณาจักร คดีอาชญากรรมข้ามชาติ คดีความมั่นคงต่อราชอาณาจักร และคดีอาญาที่สำคัญ ได้อย่างสมบูรณ์ด้วยตนเอง นอกจากนั้นยังสามารถเข้าตรวจสอบการกระทำความผิดอาญาของ นักการเมือง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ผู้ทรงอิทธิพล ผู้มีอำนาจเงิน อำนาจรัฐ ได้อย่างสมบูรณ์ ปราศจากการเข้าแทรกแซงของนักการเมือง ทั้งรัฐไม่ต้องจัดหางบประมาณใหม่ เพิ่มเติมทำให้การทำงานซ้ำซ้อน สิ้นเปลือง
คณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม โดยอนุกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมก่อนชั้นศาล ได้มีกรอบแนวทางกำหนดให้มีการปรับปรุงโครงสร้างและการบริหารงานองค์กรในกระบวนการยุติธรรม ก่อนชั้นศาล คือ องค์กรอัยการ กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยเฉพาะโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และกระบวนการทำงาน การเสนอปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ยกเลิกกฎหมาย ร่างกฎหมายใหม่ ขององค์กรอัยการ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (รายงานคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สภาปฏิรูปแห่งชาติ วาระแรก)
2. ประเด็นการศึกษา
การปรับโครงสร้างกระบวนการยุติธรรมก่อนชั้นศาล โดยให้โอน พนักงาน เจ้าหน้าที่ เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ งบประมาณของกรมสอบสวนคดีพิเศษ มาขึ้นตรง เป็นหน่วยงานในสำนักงานอัยการสูงสุด โดยมีการแก้ไขโครงสร้าง พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 หรือยกเลิกพระราชบัญญัติดังกล่าว ยกร่างกฎหมายเกี่ยวกับองค์กรการสอบสวนคดีพิเศษ วิธีการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษขึ้นใหม่ เพื่อทำการสืบสวนสอบสวนในคดีอาญาสำคัญ โดยเฉพาะความผิดอาญานอกราชอาณาจักร การสอบสวนคดีอาชญากรรมข้ามชาติ คดีเกี่ยวกับผู้ทรงอิทธิพลทางการเมือง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ผู้มีอิทธิพลทางการเงิน ฯลฯ นอกจากนั้น ยังเป็นการคานอำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจในการดำเนินคดีอาญา พนักงานอัยการสามารถแสวงหาข้อเท็จจริงในทางคดีอาญาเพิ่มเติมได้ก่อนพิจารณาสั่งคดี ประกอบการทำความเห็นและคำสั่งของพนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานอัยการสามารถอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนอย่างสมบูรณ์
3.วิธีการพิจารณาการศึกษา
ได้ทำการศึกษารวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ
1.พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 
2. พระราชบัญญัติองค์กรอัยการ พ.ศ.๒๕๕๓
3. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.๒๕๕๓
4. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
5 การรับฟังความคิดเห็นของข้าราชการฝ่ายอัยการ ข้าราชการกรมสอบสวนคดีพิเศษ และประชาชนทั่วไป
6 เอกสารกรอบความเห็นร่วมปฏิรูปประเทศไทย ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
4.สรุปผลการพิจารณา
ผลการศึกษา สมควร โอนหน่วยงานกรมสอบสวนคดีพิเศษ เข้าเป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานอัยการสูงสุดได้ โดยมีข้อกำหนด ดังนี้
1. กรมสอบสวนคดีพิเศษ เปลี่ยนเป็นสำนักงานการสอบสวนคดีพิเศษ มีผู้บัญชาการการสอบสวนคดีพิเศษ เป็นผู้บังคับบัญชา ขึ้นตรงต่ออัยการสูงสุด
2. กำหนดให้มี คณะกรรมการการสอบสวนคดีพิเศษ (ก.พ.ศ.) โดยมีโครงสร้างที่คล้ายคลึงกับ คณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ทำหน้าที่เป็นหลักประกัน ความเป็นอิสระของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อร่วมกับพนักงานอัยการในการสืบสวน สอบสวน คดีพิเศษ
3.กำหนดเงินเดือน ค่าตอบแทน ของผู้บัญชาการการสอบสวนคดีพิเศษ เทียบเท่าปลัดกระทรวง แยกสำนักงานคดีพิเศษ เป็น 10 สำนักงาน มีอธิบดีการสอบสวนคดีพิเศษ เป็นผู้บังคับบัญชา
4. กำหนดให้ คดีพิเศษทุกคดี ต้องมีพนักงานอัยการเป็นพนักงานสอบสวน หรือ เข้าร่วมสอบสวน
5. กำหนดให้คดีความผิดอาญานอกราชอาณาจักร อาชญากรรมข้ามชาติ คดีความผิดที่มีข้อยุ่งยากสลับซับซ้อน คดีที่มีผู้ทรงอิทธิพลที่สำคัญ และ คดีความผิดอาญาสามัญในพื้นที่ซึ่งอธิบดีอัยการ และอธิบดีสอบสวนคดีพิเศษเห็นควรให้มีการสืบสวน สอบสวน เป็นคดีพิเศษ
6. ให้คงอำนาจของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และให้พนักงานอัยการคดีพิเศษ มีอำนาจเช่นเดียวกันกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษด้วย
7.ในเบื้องต้น ให้คณะกรรมการอัยการ ทำหน้าที่ คณะกรรมการการสอบสวนคดีพิเศษ ให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นอธิบดีสำนักงานการสอบสวนคดีพิเศษกลาง รักษาการในตำแหน่ง ผู้บัญชาการการสอบสวนคดีพิเศษ ส่วนคดีที่ค้างการสืบสวน สอบสวน ให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนต่อไปได้จนกว่าการสอบสวนเสร็จสิ้น
8. กำหนดให้ มีการตรวจสอบ จริยธรรม จรรยาบรรณ ของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ อย่างเข้มงวดเช่นเดียวกับพนักงานอัยการ เนื่องจากการสอบสวนคดีพิเศษ ต้องอดทนกับความเสี่ยง การเสียดทานเป็นอย่างสูงเป็นพิเศษ จากผู้เกี่ยวข้องซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ทรงอิทธิพล ด้านการเงิน อำนาจรัฐ หรือเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ
สิ่งที่ต้องพิจารณา
1. บุคลากร ในกรมสอบสวนคดีพิเศษ สามารถปรับทัศนคติมาทำงานกับสำนักงานอัยการสูงสุดได้หรือไม่ อีกทั้ง เงินเดือน ค่าตอบแทน ของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งแตกต่างกับพนักงานอัยการค่อนข้างสูง อาจทำให้เกิดความลักสั่นกัน ในการทำงานมากน้อยเพียงใด ทั้งการเจริญก้าวหน้าในการรับราชการ
2. บุคลากรของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งขณะนี้มีคนของนักการเมืองเก่าแฝงตัวอยู่ จะดำเนินการอย่างไร
3. การสูญเสียอำนาจการสอบสวน ของกระทรวงยุติธรรม
4. การปรับทัศนคติ องค์ความรู้ของพนักงานอัยการ เมื่อต้องเข้าสอบสวน ซึ่งหากเข้าควบคุมดูแล หน่วยงานสอบสวนคดีพิเศษ ย่อมต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะ ในการดูแล บังคับบัญชา
ข้อดี ของการรวมองค์กร กรมสอบสวนคดีพิเศษมาเป็นส่วนหนึ่งของสำนักงานอัยการสูงสุด
1. สำนักงานอัยการสูงสุด สามารถอำนวยความยุติธรรมในชั้นสอบสวนได้มากขึ้น ตามความคาดหวังของประชาชน สังคม ทั้งนี้ประชาชนได้ประโยชน์โดยพนักงานอัยการสามารถอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนได้มากยิ่งขึ้น
2. สำนักงานอัยการสูงสุด สามารถเข้าทำการสอบสวนคดีสำคัญ คดีอาชญากรรมข้ามชาติ คดีความผิดนอกราชอาณาจักร ซึ่งอยู่ในอำนาจของอัยการสูงสุด เป็นการเติมเต็มศักยภาพของสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ได้ตามกฎหมาย
3.ไม่ต้องจัดหางบประมาณ อัตรากำลังเพิ่มให้แก่สำนักงานอัยการสูงสุดในภาระงานดังกล่าว โดยถ่ายโอน บุคลากรผู้มีทักษะในงานสืบสวนสอบสวน วัสดุอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็น รวมทั้งงบประมาณของกรมสอบสวนคดีพิเศษ มายังสำนักงานอัยการสูงสุดได้ทันที
4 กระบวนการ การอำนวยความยุติธรรมในประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด สามารถสอบสวน ตรวจสอบ นักการเมือง ผู้มีอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ แม้แต่ฝ่ายตุลาการได้ หากมีมูลสงสัยว่า มีการใช้อำนาจโดยมิชอบ หรือโดยทุจริต โดยไม่ได้ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร
5. นักการเมือง ฝ่ายบริหาร ไม่อาจใช้กระบวนการยุติธรรมต้นน้ำ ใช้อำนาจมิชอบในการกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้าม หรือ สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนผู้สุจริต ในการเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ
5 ข้อเสนอประเด็นการปฏิรูปและแนวทางการดำเนินการที่นำเสนอสภาปฏิรูปแห่งชาติพิจารณา
ให้ยุบ กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยให้โอนบุคลากร วัสดุ อุปกรณ์ ทรัพย์สิน งบประมาณ ฯลฯ ในกรมสอบสวนคดีพิเศษ ไปจัดตั้งเป็นหน่วยงาน ชื่อ สำนักงานการสอบสวนคดีพิเศษ โดยมีผู้บัญชาการสำนักงานการสอบสวนคดีพิเศษ เป็นผู้บังคับบัญชา อยู่ในหน่วยราชการสำนักงานอัยการสูงสุด โดยมีอัยการสูงสุดกำกับบังคับบัญชาอีกชั้นหนึ่ง 
--------
ทั้งหมดนี้ คือ ผลการศึกษาครั้งสำคัญ ที่จะเปลี่ยนโฉมให้ดีเอสไอ กลับมาเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบคดีสำคัญของประเทศ โดยไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลหรืออำนาจ "นักการเมือง" อีกต่อไป

ที่มา: 
https://www.isranews.org/isranews-scoop/item/37763-report01_37763.html
ได้เวลายุบ "ดีเอสไอ" รวมเป็นหน่วยงานในองค์กรอัยการ? ได้เวลายุบ "ดีเอสไอ" รวมเป็นหน่วยงานในองค์กรอัยการ? Reviewed by MFNews on 07:04:00 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น :

ขับเคลื่อนโดย Blogger.